มุมรักเขียน.

เรื่องสั้นๆ   บ้าน..

ผมเติบโตมากับทุ่งนาป่าดง ใช้ชีวิตอย่างสมบุกสมบัน กินอยู่อย่างเรียบง่าย  โดยภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนอิสาน  เรื่องอาหารการกิน น้อยครั้งที่ครอบครัวของผมจะลำบากควักเงินในกระเป๋าซื้อให้สิ้นเปลือง เพราะทุ่งนาป่าพงพีที่แวดล้อม  นั้นอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธ์ธัญญาหารคอยหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ   

ครอบครัวของผมสืบทอดอาชีพชาวนามาแต่บรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน พ่อของผมเป็นช่างไม้ที่จัดว่าฝีมือดีคนหนึ่งในหมู่บ้าน  สิ่งที่พ่อทำมาตลอดคือการสร้างบ้าน ทั้งบ้านตัวเองและรับจ้างคนอื่น  นอกจากสร้างบ้านพ่อยังทำเฟอนิเจอร์ขาย มี ตู้ เตียง เก้าอี้ โต๊ะ เป็นต้น  พ่อคือคนสร้างรายได้ให้กับครอบครัว  บ้านที่เราอยู่เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์สวยงามวันดีคืนดีพ่อนึกครึ้มอกครึ้มใจวันใดก็จะประกาศขายไปซื้อที่ดินแห่งใหม่ และเริ่มก่อสร้างบ้านอีกหลัง เป็นอย่างนี้มาตลอด  แม่กับพี่สาวเล่าให้ฟังบ่อยๆว่าบ้านใครบ้างที่เคยเป็นบ้านของเรามาก่อน 
เท่าที่จำความได้ บ้านที่อยู่ข้างบ้านผมก็เคยเป็นของพวกเรามาก่อน ด้วยความสงสัยในวัยเด็ก ผมก็นึกสงสัยว่า ทำไมพ่อต้องให้คนอื่นมาอยู่บ้านของพวกเราด้วย และพาพวกเราทั้งหมดหอบข้าวหอบของมาอยู่บ้านหลังเล็กๆ มุงด้วยหญ้าคา พร้อมกับมองโครงการใหม่ของพ่อ  ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างนึกแปลกใจ  

แม้ในที่สุด เมื่อมันถูกกั้นรอบด้วยฝาเขียบตองสีเขียวสดทั้งหลัง พ่อจึงไปชักชวนเพื่อนบ้านมาช่วยหอบข้าวหอบของเดินรอบบ้านสองรอบสามรอบ นิมนต์พระมาทำพิธีต่างๆ จัดเลี้ยงสังสรรค์พร้อมประกาศว่า ที่นี่คือบ้านใหม่ของพวกเรา 

บ้านของพ่อโดดเด่นในจินตนาการของเพื่อนบ้านรวมทั้งพวกผม  เมื่อมันแล้วเสร็จ  แต่ตอนนี้มันล้อมลอบด้วยฝาเขียบตองสีเขียว  ตระหง่านอยู่เบื้องหน้าของทุกคน

ช่วงที่กำลังเร่งสร้างบ้าน พ่อจะตะเวนไปตามทุ่งนาของญาติมิตรโดยมีผมคอยติดตามไปด้วยในบางครั้ง  พ่อจะตระเวนดูต้นไม้ที่เนื้อดีๆอย่างประดู่ มะค่า เต็ง รังและอื่นๆตามแต่จะเลือกได้และเลือกเฉพาะต้นที่ลำต้นตรงๆ และคาดว่าไม่เป็นโพรง จากนั้นพ่อก็จะเจรจาต่อรองกับเจ้าของ ซื้อต่างขอ จนคาดว่าจะพอแก่การก่อสร้างและงานไม้อื่นๆ  จากนั้นจึงเริ่มลงมือ ตัดโค่นและแปรรูป  พ่อมีลูกมือซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆของพ่อชื่ออาเบ้า พ่อกับอาเบ้าสนิทกันมาก แต่อาเบ้ามีนิสัยที่ต่างกันคนละขั้วกับพ่อคือ เกียจคร้าน บ้านของอาเบ้าเป็นบ้านหลังเล็กๆ เหมือนกระต๊อบ อาเบ้ามีความรู้เรื่องซ่อมวิทยุนิดหน่อย ไม่ถึงกับเป็นช่างแต่ด้วยใจรักจึงดูเผินๆว่าแกเป็นช่างซ่อมวิทยุเก่งขนาด เวลาไปหาแกที่บ้าน ก็จะเห็นข้าวของพวกครื่องไม้เครื่องมือซ่อมวิทยุเกลื่อนห้องไปหมด  พ่อมองอาเบ้าอย่างเบื่อหน่าย และเห็นการกระทำนั้นเป็นสิ่งหมกมุ่นและไร้ประโยชน์ แต่ก็จนปัญญาจักชักนำในสิ่งที่ดีกว่านั้น

ชนบททางอิสานบ้านผมนั้นจะปลูกบ้านอยู่รวมกันและเรียกที่นั่นว่า”หมู่บ้าน” ส่วนที่นาก็จะกระจัดกระจายอยู่ทั่วหัวระแหงความไกล-ใกล้ ของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวที่นากับบ้านอยู่ไกลกันร่วมสามถึงสี่กิโลฯ  พวกผมดูจะสะดวกสบายกว่าใครอื่นเพราะที่นาอยู่ใกล้ๆบ้าน  เถียงนากับบ้านไกลกันไม่เกินห้าร้อยเมตร เวลาฤดูทำนาจึงไม่จำเป็นต้องลำบากขนย้ายข้าวของไปอยู่ตามที่ไร่ที่นาเหมือนครอบครัวอื่นๆเสียให้ยาก

นาของผมอยู่ท้ายหมู่บ้านนี่เอง  เดินเลยป่าขี้ไปก็ถึงนาผม

ป่าหัวเถียงคือโรงเลื่อยของพ่อ  มันถูกถากถางจนเตียนราบใต้ต้นตะค้อต้นใหญ่  ไม้ที่พ่อตระเวนซี้อไว้จะถูกตัดและลำเลียงโดยรถเข็นมาที่นี่  พ่อกับอาเบ้าจะช่วยกันยกมันขึ้นห้างที่สร้างไว้อย่างดีตีไม้ล๊อคอย่างแน่นหนากันโยก จากนั้นจึงทำการเลื่อยเปิดปีกออกสองข้างก่อนแล้วจึงตีเส้นตามขนาดของไม้แปรรูปที่ต้องการ  เสร็จแล้วก็ลงมือเลื่อยโดยให้ตรงไปตามเส้น  ไม้ส่วนที่เปิดปีกแรกออก เรียกว่าไม้แป้นปีก ด้านหนึ่งจะเรียบอีกด้านหนึ่งจะขลุขละโค้งตามลักษระของต้นไม้ที่เป็นทรงกลม ไม้นี้ก็ใช่จะไร้ซึ่งประโยชน์ คนบ้านผมมักเรียกคนที่เรียนไม่เก่งว่า “พวกปึกเหมือนแป้นปีก” ด้วยมีลักษณะเป็นเช่นนั้น

แม่กับอาหนูเมียอาเบ้าก็จะมาช่วยบ้างในบางวัน  รวมทั้งพวกผมในวันเสาร์อาทิตย์ ก็จะมาดูพ่อกับอาเบ้าเลื่อยไม้และช่วยแม่ขุดปู หาเขียด เก็บผักหวานดอกกระเจียวในป่าเป็นที่สนุก  


พ่อกับอาเบ้าเลื่อยไม้เข้าขากันดีเพราะฝึกกันมาตั้งแต่หัดเลื่อยใหม่ๆ บ้านของปู่ทั้งหลังล้วนแต่เรี่ยวแรงของพ่อกับอาเบ้า จังหวะการดึงการส่งเลื่อยเป็นไปอย่างกลมกลืน  มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนเลื่อยไม้เมื่อเสี่ยวสองคนช่วยกันเลื่อยไม้ ต่างคนก็ต่างใจร้อนอยากให้เสร็จไวไว  จึงต่างดึงต่างดันไม่เป็นจังหวะ กอรปกับความใจร้อนของทั้งสองส่งผลให้ขอนไม้มีเลื่อยติดอยู่หล่นจากห้างกลิ้งหลุนๆลงคลอง เสี่ยวสองเสี่ยวยืนมองอย่างฉงนฉงาย จากนั้นก็หันมาทะเลาะตบตีกัน โดยต่างฝ่ายต่างโทษในความผิดของกันและกัน เป็นเรื่องเล่าชวนหัวเรื่องหนึ่ง  พ่อกับอาเบ้ามองตาก็รู้ใจกันทั้งสองจะพูดจาเล่นหัวกันก็น้อยครั้ง

ไม้ที่เลื่อยเสร็จแล้วพ่อจะเก็บซ่อนไว้ในป่าหัวเถียงและขนเข้าบ้านทีละน้อยๆ  พ่อทำงานทุกวันแทบไม่มีวันพักผ่อน คมกบไสไม้ของพ่อคมวาวอยู่ตลอดเวลา
 พอเสร็จงานเลื่อยไม้แปรกับอาเบ้าพ่อก็หันมาทำวงกบประตูหน้าต่าง  จากนั้นก็นำไปติดตั้ง ใส่บาน กั้นฝาวันละนิดละหน่อย  โดยมีแม่เป็นผู้ช่วยที่ดีที่สุดของพ่อ  บ้านของผมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  นานหลายปีจนบ้านที่พ่อมานะสร้างไม่มีฝาใบตองแม้แต่ด้านเดียว  เสาตัวเรือนใหญ่สิบสองต้นทำจากต้นประดู่ที่ถากด้วยมือพ่อ  กั้นเป็นห้องสามห้อง มีหน้าต่างรับลมทั้งสี่ทิศ  ใต้เรือนเป็นคอกควายส่วนเชื่อมต่อไปยังเรือนครัวลดชั้นจากเรือนใหญ่สามขั้นบันไดกว้างพอประมาณเป็นที่โล่งไว้ดูดาว ไม่มีหลังคา เรือนครัวมุงด้วยหญ้าคา เสาถากจากไม่จิกหกต้น กั้นรอบด้านด้วยไม้กุง ทุกอย่างเสร็จแล้วด้วยฝีมือของพ่อ

พ่อนิมนต์พระมาทำบุญขึ้นบ้านใหม่อีกครั้งหนึ่งหลังตรากตรำมานาน  ญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมทำบุญกันถ้วนหน้า ทุกคนต่างชื่นชมในความมุ่งมั่นของพ่อ  สายสิญน์ถูกโยงระยางไปรอบบ้าน  แขกที่มาในงานค้อมหัวฟังเสียงพระสวดมนต์อย่างนอบน้อม  พ่อหยาดน้ำลงขันอุทิศส่วนกุศลผลบุญถึงเจ้ากรรมนายเวรเป็นพิธีกรรมสุดท้าย  

พระเณรกลับวัดหลังจากฉันเสร็จและให้พร  ขณะแขกเหรื่อที่มาในงานกำลังดื่มกินอย่างสนุกสนาน  พ่อมายืนที่หน้าบ้านและมองดูมันอย่างภาคภูมิใจ  เดินกลับไปกลับมากลางผู้คนขวักไขว่  ใครคนหนึ่งก็เอ่ยขึ้นว่า

“เจ้าสิขายขายเท่าไหร่หรือน้าทิดเสาร์บ้านหลังนี้”

 คำพูดนั้นเหมือนจะตั้งคำถามให้กับชาวบ้านและพวกเราทุกคนในครอบครัวครุ่นคิดว่า  ใครกันหนอที่จะมาเป็นเจ้าของบ้านที่แท้จริงของบ้านหลังนี้

แต่...... 

ไม่มีคำตอบจากพ่อนอกจากรอยยิ้ม



ที่มา